top of page

รีวิวงานเทคที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษของสาวๆ Women of Silicon Roundabout 2024 และการเริ่มทำ AI ในองค์กร

  • Writer: MOOMNT M
    MOOMNT M
  • Jan 13
  • 2 min read

เพิ่งมีเวลาหลังจากส่งการบ้านป.โทเทอมแรกไป จะบอกว่าเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มิ้นท์ได้ไปร่วมงาน Women of Silicon Roundabout ซึ่งเป็นงานเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษสำหรับสาว ๆ มา (ในงานชีเคลมว่า The UK’s Largest Tech Event for Women)


ถามว่าทำไมต้องมีงานเทคของผู้หญิงโดยเฉพาะ?

เหตุผลก็คือในวงการเทคมีดราม่าอยู่คือ ทำไมมีแต่ผู้ชายที่ได้เป็น Role Model หรือไอดอลของฝั่งเทค เช่น มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก แห่ง Facebook หรือ แซม อัลท์แมน แห่ง OpenAI แล้วทำไมสัดส่วนสาวๆ ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีถึงได้น้อยกว่ามาก หรือบางทีผู้หญิงก็มักจะโดนปฏิบัติอีกอย่างถ้ารู้ว่าเป็น Software Engineer แม้ว่าโลกเราจะเรียกร้องความเท่าเทียมกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

เลยเป็นที่มาของงานนี้ที่อยากจะ Empower สาวๆ ว่าจริง ๆ แล้วเราก็ทำงานในวงการนี้ได้นะ และมีหลายๆ องค์กรในอังกฤษที่สนับสนุนและเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงได้เข้าไปแสดงศักยภาพแบบจริงจัง


Women of Silicon Roundabout
โชว์นิดนึงว่าไปจริงจ้า ถ่ายกับความแบ็คดรอปเอยใด

ขอเล่าภาพรวมเลยว่ามีหลายบริษัทดังๆ ในอังกฤษมาออกบูทเพื่อเล่าเรื่องการ Empower ตัวเอง และหลายบูทก็มีเปิดรับสมัครพนักงานสายเทคกันตรงนั้นเลย สนุก!


Women of Silicon Roundabout
มีบริษัทดังๆ เพียบ

แต่ที่เราสนุกที่สุดคือการได้เดินเข้าไปคุยกับสาวๆ ทุกคนเลยด้วยคำถามเดียวกันว่า "ความยากของการเป็นผู้หญิงในอุตสาหกรรมเทคคืออะไร"

คำตอบที่ชอบที่สุดและคิดว่ากระตุกจิตกระชากใจได้มากคือของคุณพี่ที่บริษัท Trainline

Trainline คือบริษัทที่ผลิตแอปพลิเคชั่นเอาไว้เช็กเวลาเดินรถไฟ ขนส่งสำคัญของชาวเมืองลอนดอน แถมยังให้จองตั๋ว บอกราคาล่วงหน้า เช็กเวลาแบบเรียลไทม์เอาไว้ความสะดวกแบบครบจบในแอป

เธอคนที่มาตอบคำถามเราเป็น Software Engineer ชาวอินเดียที่ได้มาทำงานที่บริษัทสัญชาติกฤษแห่งนี้ เธอบอกว่าการทำงานก่อนหน้าจะมาที่นี่โดนดูถูกมากมายตั้งแต่สมัยเรียน เพราะเธอเป็นผู้หญิงแค่ไม่กี่คนในห้อง โดนหาว่าคงไม่เก่งเท่าคนอื่น แล้วดันรู้สึกตามว่าเราคงไม่เก่งเท่าคนอื่นจริงๆ แต่พอจบมาเธอก็สามารถทำงานได้เทียบเท่าผู้ชายคนอื่นๆ ในองค์กร พอย้ายมาที่นี่ก็มีระบบซัพพอร์ตที่ดีที่รู้สึกว่าสุดท้ายเราก็มีความสามารถ เธอบอกว่าไม่อยากให้ผู้หญิงคนอื่นๆ รู้สึกแบบที่เธอเคยรู้สึก เธอบอกว่าทุกคนเก่ง มีความสามารถ และทำในสิ่งที่ชอบได้

พอคุยแล้วน้ำตาจะไหล มันช่างโดนใจเสียจริง นี่สินะเพื่อนหญิงพลังหญิง

อีกบูทนึงที่เข้าไปคุยแล้วรู้สึกเจ๋งดีคือ Ministry of Justice ถ้าเทียบกับบ้านเราคือกระทรวงยุติธรรม องค์กรของรัฐที่อังกฤษไม่ตกยุคสักนิด แถมยังมีแต่สาวๆ มาออกบูททั้งหมดเลยด้วย ตำแหน่งงานเจ๋งดี เพราะตอนนี้กระทรวงกำลังทรานส์ฟอร์มองค์กรด้วย AI พยายามสร้างวิธีให้เกิดผู้กระทำความผิดน้อยลงหรือช่วยหาข้อมูลเพื่อปรับปรุงนโยบาย ด้านงบประมาณต่างๆ มีเปิดรับตำแหน่ง Data Analyse และ researcher ที่ใช้ Machine Learning เป็นด้วย


พอจบพาร์ทเดินเข้าไปพบปะพี่สาวเหล่าคนทำงาน ก็ยังมีเซสชั่นสัมมนาที่เข้าร่วมได้ (ต้องบอกก่อนว่านี่เป็นแพ็กเกจที่ได้มาฟรี เพราะมาในนามนักเรียนมหาวิทยาลัย จริงๆ ยังมีกิจกรรมอีกเพียบแต่ตอนนั้นติดเรียนเลยไม่ได้เข้า แล้วก็มีกิจกรรมสำหรับคนที่ซื้อบัตรเต็มรูปแบบด้วย)


ชอบที่งานสัมมนาที่นี่เป็นแบบ Reduce noise pollution จัดสัมมนาชนกัน 4 เวทีได้เพราะทุกคนใส่หูฟัง!


Seminar, Women of Silicon Roundabout
อันนี้เวทีฝั่งขวา

Women of Silicon Roundabout
นี่เลย ทุกคนใส่หูฟังนั่งเรียง ส่วนสปีกเกอร์ก็พูดใส่ไมค์แบบเข้าแค่หูฟัง ไม่มีเสียงรบกวนออกภายนอก ซึ่งเราอยู่เวทีฝั่งซ้าย

ขอเข้าเนื้อหาเลยว่าเรามาฟังอะไร เซสชั่นนี้คือเรื่อง Developing a Responsible AI Framework Emma Duckworth เธอคือ Head of AI & Data Science, Haleon บริษัทที่ผลิตผลิตภัณฑ์ทางยาทั้งหลาย ที่เรารู้จักก็มี ยาสีฟัน Sensodyne, แคลเซียม Centrum, ยาพารา Panadol หรือ Polident


Women of Silicon Roundabout

หน้าที่ของเธอคือการทำ Marketing optimization พัฒนาการเข้าถึงลูกค้า การทำเรื่อง Supply Chain ทุกอย่างในระบบด้วยเอไอ

ดังนั้น เธอเลยเป็นคนที่วางแผนว่าแล้วจะใช้เอไอทำงานอย่างไรในองค์กร เพราะอย่างที่รู้กันว่าเอไอยังมีส่วนที่ผิดจริยธรรมหรือคนเอาไปใช้ในทางที่ผิด

สิ่งที่เธอบอกคือ

1. เราต้องสร้าง Ethical AI ขึ้นมาเพื่อทำระบบให้ยุติธรรม โปร่งใส และปกป้องสิทธิมนุษยชนอยู่

2. เราต้องสร้างระบบปฏิบัติทางเอไอที่ปกป้องผู้บริโภค พนักงาน และองค์กรซึ่งต้องเชื่อถือได้ สร้าง ROI ที่คุ้มค่า และนำไปใช้งานได้จริง

ตอนนี้ สถานการณ์ด้านเอไอที่ยุโรปคือเริ่มมีการใช้ EU AI ACT หรือพรบ.เอไอแล้วโดยจะแบ่งประเภทความเสี่ยงของเอไอตามการใช้งาน เสี่ยงน้อย-เสี่ยงมาก-ห้ามใช้ แต่ละความเสี่ยงก็จะมีข้อบังคับที่ต่างกันออกไปเพื่อป้องกันการกระทำผิดจริยธรรม

คำถามต่อมาคือ แล้วองค์กรจะเริ่มทำอะไรได้บ้างและอย่างไร

การสร้าง Responsible AI Framework ของเธอมี 3 ส่วน

1. Direction วางวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ขององค์กรก่อนว่าจะใช้เอไอเพื่อจุดประสงค์อะไร

2. Context จะใช้เอไอรวมกับนโยบายองค์อย่างไร แล้วจะให้เอไอสร้างอะไรออกมาให้เรา

3. Execution ตอนสร้างจริงก็ต้องตอบให้ได้ว่ามันมีธรรมาภิบาลไหม ใช้เครื่องมืออย่างไร เราจะควบคุมระบบการใช้แค่ไหน จะใช้นานเท่าไหร่ แล้วที่สำคัญต้องสอนทุกคนในองค์กรให้ใช้งานให้เป็นอย่างถูกต้องด้วย

นั่นแปลว่าทุกคนในองค์กรมีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน ซีอีโอยันพนักงานต้องเข้าใจตรงกัน เธอบอกว่าลองเริ่มจากการระดมความคิดจาก Excel ก่อนยังได้เลย จัดการความคิดให้เป็นขั้นตอนจะช่วยได้

เธอยกตัวอย่าง Chatbox ที่หลายบริษัทชอบทำ ติดตั้งไว้บนเว็บไซต์ตัวเอง เธอบอกว่าต้องคอยตรวจสอบสม่ำเสมอว่าปลอดภัยสำหรับลูกค้า ถ้าไม่ ต้องทำให้ปลอดภัยเพื่อให้ลูกค้าเช่ือถือ หมั่นทำ Risk Assessment


"This is opportunity to invest."
"We all need new skills."

แน่นอนว่าเอไอเป็นเรื่องใหม่ ไม่ใช่ทุกคนจะเปิดใจ แต่มนุษย์ต้องการทักษะใหม่ๆ เพื่อการปรับตัวเสมอ แถมจากสถิติ GenAI บวกกับ Skill ของคน ช่วยให้คนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 12.2% และมีคุณภาพมากขึ้น 40% แปลว่าปล่อยให้เอไอทำงานอย่างเดียวไม่เวิร์ก คนที่ใช้ต้องรู้จักเครื่องมือและวิธีการใช้งานมันด้วย

เครื่องมือที่เธอใช้ในองค์กรก็มีตั้งแต่ Haleon internal LLM-- เป็น Large Language Model ภายในองค์กรเอง จะมีชื่อสินค้า ศัพท์เทคนิคยาและผลิตภัณฑ์ต่างๆ

Halingo (Internal AI Translation) เนื่องจากผลิตภัณฑ์ยาต้องส่งออกไปทั่วโลก เลยจำเป็นต้องมีการแปลฉลากยาเป็นภาษานั้นๆ ด้วย

และ Co-pilot (Off-the-Shelf Productivity) ช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่มือผู้บริโภคดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

นอกจากนี้ยังมีการทำวิจัยภายในองค์กรเกี่ยวกับ Resonsible AI เพื่อให้ความรู้ ขอแปะไว้ให้ https://www.medrxiv.org/content/10.1101/2024.10.15.24315519v1.full (ยังไม่ได้อ่านเหมือนกัน เดี๋ยววนกลับมาอ่าน)


เรื่องราวมีประมาณนี้ ถ้าได้ไปงานไหนอีกจะมาเล่าให้ฟังอีก หวังว่าจะสนุกนะ

Comments


bottom of page